แชร์

5 หน่วยงานใหญ่ ผนึกกำลังขยายช่องทางซื้อขายคาร์บอนเครดิต ขับเคลื่อนประเทศไทยลดโลกเดือด

อัพเดทล่าสุด: 9 ส.ค. 2024
163 ผู้เข้าชม

หอการค้าไทย , กระทรวงมหาดไทย , การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) , สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) (สสปน.) และ กลุ่มเซ็นทรัล ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ภายใต้โครงการ Platform ซื้อขายคาร์บอนเครดิต หรือ Carbon Neutrality 4 ALL เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2567 ณ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์

การลงนามในบันทึกข้อตกลงครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อร่วมขับเคลื่อนประเทศไทยเดินหน้าสู่เป้าหมาย Net Zero และส่งเสริมให้ภาครัฐ เอกชน และบุคคลทั่วไป ได้ร่วมกันผลักดันการลดโลกร้อนผ่านแพลตฟอร์มซื้อขายคาร์บอนเครดิต CCXT (Carbon Credit Exchange of Thailand) อย่างไรก็ตามในปัจจุบันการซื้อขายคาร์บอนเครดิต หรือการชดเชยคาร์บอนเครดิตจากกิจกรรมต่างๆ ยังอยู่ในวงจำกัดเฉพาะธุรกิจรายใหญ่ และ ภาคอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เท่านั้น แพลตฟอร์มนี้จึงเป็นช่องทางหนึ่งที่จะช่วยส่งเสริมให้หน่วยงาน หรือ ผู้ประกอบการรายย่อย และบุคคลทั่วไป ได้มีโอกาสเข้าถึงการชดเชยคาร์บอนเครดิตจากกิจกรรมต่างๆ ผ่านแพลตฟอร์ม และแอพลิเคชั่น ที่เกี่ยวข้องกับภาคส่วนต่างๆ ได้แก่ ภาคการค้าและการลงทุน , ภาคการเกษตรและอาหาร , การท่องเที่ยวและบริการ และอุตสาหกรรมไมซ์

โดยในเฟสแรก เริ่มต้นจากการชดเชยคาร์บอนเครดิตจากมาตรฐาน TVER ของประเทศไทย ใช้ในกลุ่มท่องเที่ยว การจัดงานอีเว้นท์ อุตสาหกรรมไมซ์ และภาคบริการต่างๆ ผ่านแอพลิเคชั่น CERO ที่เป็นแอพลิเคชั่นแรกบนแพลตฟอร์มนี้ โดยกระทรวงมหาดไทยนำคาร์บอนเครดิตชุมชน จาก โครงการถังขยะเปียกลดโลกร้อน เข้าสู่แพลตฟอร์มนี้ สำหรับฝั่งผู้ซื้อคาร์บอนเครดิตมาจากการประชาสัมพันธ์จากหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและเครือข่าย ที่ได้เชิญชวนให้สมาชิกจำนวนกว่า 140,000 ราย เข้าร่วมใช้แพลตฟอร์มเพื่อสร้างแบบอย่างที่ดีต่อการดำเนินธุรกิจภาคการค้ายุคใหม่ นอกจากนี้ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) ยังส่งเสริมให้เครือข่ายภาคการท่องเที่ยว โรงแรม ศูนย์การจัดประชุมสัมมนา งานแสดงสินค้า ร่วมใช้แพลตฟอร์ม และ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ยังประชาสัมพันธ์ให้กับเครือข่ายผู้ประกอบการภาคท่องเที่ยว ร่วมคำนวณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในแพลตฟอร์มของ ททท. และร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการขยายผลนำข้อมูลดังกล่าวมาเชื่อมต่อกับแอพลิเคชั่นภายใต้โครงการ และ กลุ่มเซ็นทรัล ร่วมเป็นผู้พัฒนาแพลตฟอร์มดูแลการบริหารจัดการระบบแพลตฟอร์มให้มีประสิทธิภาพ และสะดวกต่อการใช้งาน นอกจากนี้ยังมีการประชาสัมพันธ์ผ่านคู่ค้า และเครือข่ายของกลุ่มเซ็นทรัลอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม โครงการนี้ประกอบด้วยโครงสร้างหลัก 5 ส่วน ได้แก่ (1) เจ้าของคาร์บอนเครดิตที่ได้รับการรับรอง TVER จากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก โดยเจ้าของคาร์บอนเครดิตสามารถสมัครสมาชิกเข้าใช้แพลตฟอร์มและใช้เป็นช่องทางการขายได้ (2) แพลตฟอร์มซื้อขายคาร์บอนเครดิต CCXT ทำหน้าที่เป็นผู้รับคาร์บอนเครดิตจากเจ้าของ มาลงขายในแพลตฟอร์ม ในหน่วยตันคาร์บอนไดออกไซด์ฯ (3) แอพลิเคชั่น หรือ Digital Channel ที่เชื่อมต่อกับแพลตฟอร์ม CCXT เพื่อรับคาร์บอนเครดิตมาชดเชยกิจกรรม โดยมีฟีเจอร์ต่างๆ เช่น การชดเชยคาร์บอนเครดิตในการจัดอีเว้นท์ หรือการชดเชยการเข้าพักในโรงแรม โดยใช้หน่วยกิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์ฯ (4) หน่วยงานรับรองคาร์บอนเครดิต ทำหน้าที่รับรองว่าคาร์บอนเครดิตที่ได้ร่วมบริจาค หรือ ชดเชยเป็นคาร์บอนเครดิตที่อยู่ในระบบทะเบียนของ TVER จริง เพื่อให้ผู้ชดเชยมั่นใจได้ว่ามีการชดเชยแล้วตามระเบียบขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก และ (5) ผู้ซื้อคาร์บอนเครดิต ทั้งรายใหญ่และรายย่อย ในภาคการค้า การบริการ การท่องเที่ยวและไมซ์ และภาคการเกษตร การดำเนินโครงการนี้ มีระยะเวลาดำเนินการร่วมกัน 5 ปี และจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่ทั้ง 5 หน่วยงาน ได้ร่วมกันผลักดันให้เกิดเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ และเพื่อให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมาย net zero ต่อไป


บทความที่เกี่ยวข้อง
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ
Powered By MakeWebEasy Logo MakeWebEasy